เรื่องเด่น นำธรรมะมาใช้ในการทำงาน

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 4 กรกฎาคม 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,186
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,595
    ค่าพลัง:
    +26,443
    2B21A396-810C-48B7-8424-F8348DFCCD44.jpeg
    นำธรรมะมาใช้ในการทำงาน

    วันก่อนมีโยมคนหนึ่ง ไปถึงวัดก็ไปตะโกนเรียก อาตมากำลังจารตะกรุดอยู่ ก็บอกว่า "เข้ามาสิ..ประตูไม่ได้ล็อก" พอโผล่หน้าขึ้นมา เขาบอกว่าเขาเครียดมาก เพราะว่าตอนนี้มีหนี้อยู่ร้อยกว่าล้าน ตอนแรกกู้ธนาคารมา แล้วไปทำกิจการอยู่แถวอมตะซิตี้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวเอง แต่ปัญหาไปอยู่ที่ผู้ว่าจ้าง ถึงเวลาก็ไม่จ่ายค่างวดให้ตรงเวลา ทีนี้เขากู้เงินมา ไม่มีเงินไปให้ธนาคาร เขาก็โดนเร่งรัด พอโดนเข้าบ่อย ๆ เขาก็ให้ปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ การปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ แม้ว่าระยะเวลาจะยืดขึ้น แต่ว่าการจ่ายมักจะหนักกว่าเดิม เพราะต้องจ่ายดอกพร้อมต้นบางส่วนด้วย ก็เลยเครียด มาปรึกษาอาตมา

    จึงถามเขาว่า ก่อนที่คุณทำงานเคยคิดบ้างไหมว่า ถ้าเกิดผิดพลาดขึ้นมาแล้วจะแก้ไขอย่างไร ? ..เขาก็เงียบ.. ตอนที่คุณคิดจะทำงาน คุณเคยคิดบ้างไหมว่าถ้าหากว่าเจ๊งขึ้นมา คุณจะแก้ไขอย่างไร ? ..เขาก็เงียบ.. ถามว่าคุณคิดอย่างเดียวว่า ทำงานชิ้นหนึ่งจะได้กำไรเท่าไร ถ้าทำเท่านี้จะได้แค่นี้ ถ้าทำแค่นั้นจะได้เท่านั้น อย่างนี้ใช่ไหม ? ..เขาบอกว่าใช่ จึงบอกเขาไปว่า ถ้าอย่างนั้นแสดงว่าคุณขาดธรรมะมาก ถ้าหากคุณทำแล้วได้ผลดี แปลว่าบุญเก่าของคุณดีจริง ๆ แต่ถ้าทำแล้วเจ๊งอย่างปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องปกติ

    เพราะว่าคุณไม่ได้เอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาใช้ในเรื่องการงานเลย พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เราจะไปกำหนดว่าทำหนึ่งต้องได้ห้า ทำสองต้องได้สิบ ทำยี่สิบต้องได้ร้อย นั่นไม่ใช่แล้ว.. การทำงานเราต้องคิดในแง่ร้ายที่สุดไว้ก่อน อย่างเช่นว่า กิจการเจ๊งเราจะมีทางแก้ไขอย่างไร ? เราจะเอาตรงไหนมาสนับสนุน ? แล้วขณะเดียวกันเราจะมีเงินส่วนไหนมาค้ำจุน ? หรือจะถอยไปยืนอยู่ตรงจุดไหนเพื่อที่จะแก้ไขเหตุการณ์นี้ ? ถ้าสามารถคิดตรงนี้เอาไว้ให้เรียบร้อยก่อน คุณจะทำงานอะไรก็ได้ แต่ถ้าคิดตรงจุดนี้ไม่เป็น ไปคิดว่าหนึ่งบวกหนึ่งต้องได้สอง สองบวกสองต้องได้สี่ อย่างนั้นถ้าไม่ใช่บุญเก่าดีจริง ๆ ทำอะไรก็เจ๊ง..!

    โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เริ่มต้นทำงานก็ผิดแล้ว ให้สังเกตดูรุ่นปู่ย่าตาทวดของเรา ปู่ย่าตาทวดส่วนใหญ่มาจากเมืองจีน มาในลักษณะเสื่อผืนหมอนใบ ค่อย ๆ ทำงาน ค่อย ๆ เก็บหอมรอมริบ พอมีเงินสักส่วนหนึ่งทำกิจการได้ อย่างสมัยนั้นก็อาจจะ ๒๐๐ บาทหรือ ๓๐๐ บาท ก็จะเปิดการค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยตัวเอง ถ้าเขาผิดพลาดก็จะหมดแค่นั้น หนี้สินไม่มี แต่ถ้าสมัยนี้ผิดพลาดขึ้นมา เราจะไม่หมดแค่นั้น เรายังมีหนี้กองโตรออยู่ เพราะว่าเราเริ่มต้นด้วยการเป็นหนี้เสียแล้ว แปลว่าเราบริหารผิดมาตั้งแต่แรกแล้ว เพราะเราดันไปเชื่อทฤษฎีตะวันตกที่ว่า คนที่มีหนี้สินคือคนที่มีเครดิตดี แต่ถ้าหากว่าเราทำตามแบบของปู่ย่าตาทวดที่ท่านทำมา อาจจะดูเหมือนไม่หวังความก้าวหน้า อาจจะเป็นกิจการเล็ก ๆ ก่อน แต่ความมั่นคงจะมีมากกว่า เพราะว่าค่อยเป็นค่อยไป

    ตัวอย่างที่ชัดที่สุดต้องบริษัทสหพัฒนพิบูล อันนั้นของเขาค่อย ๆ ก้าว ค่อย ๆ ขยับขยายขึ้นมา พอโตก็แตกสายกระจายกว้างออกไป ๆ เป็นการประกันความเสี่ยง ประกอบธุรกิจหลายด้าน ขณะที่เศรษฐกิจตก เกิดการล้มละลายทางการเงินขึ้น บริษัทนี้เขาไม่สะเทือนเลย เพราะว่าเขาไม่มีหนี้ต่างประเทศ คนอื่นจะลำบาก จะดิ้นรนก็ดิ้นไป เขาอาจจะลำบากหน่อยตรงที่กิจการไปได้ยาก เพราะว่าบรรดาคู่ค้าต่าง ๆ ล้วนแต่ประสบปัญหาทางการเงินทั้งนั้น แต่ในเมื่อตัดปัญหาเรื่องหนี้สินออกไปเสีย อย่างไรก็พอที่จะประคับประคองกันไปได้

    ดังนั้น..พวกเราทุกคนควรมีธรรมะในส่วนที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ดำรงอยู่ในความไม่ประมาท จะต้องคิดเป็น ทำเป็น โดยเฉพาะปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ถ้าเรารู้จักพิจารณาแยกแยะ จะเห็นความก่อนหลังเร็วช้าของแต่ละปัญหา ปัญหาไหนที่มาถึงก่อน เราก็แก้ไขก่อน ถ้าอย่างนั้นเราจะมีปัญหาเดียวอยู่ตรงหน้าตลอดเวลา ซึ่งจะไม่หนักเกินกำลัง แต่ถ้าหากว่าเราไปเอาหลาย ๆ ปัญหามาสุมรวมกัน ถึงเวลาก็จะรู้สึกว่าปัญหานั้นใหญ่จนแก้ไม่ไหว

    ดังนั้น..ถ้าหากมีการปฏิบัติภาวนาสมาธิเสียหน่อย จะช่วยในเรื่องพวกนี้ได้มาก แล้วก็ยกตัวอย่างให้เขาดูว่า อาตมานั่งจารตะกรุดอยู่นี่ เพราะว่าติดหนี้เขาอยู่ ๓๐ กว่าดอก งานอื่นก็มีท่วมหัว แต่พรุ่งนี้ต้องรับสังฆทาน ก็แปลว่าตะกรุดนี่ต้องจารเสร็จ ถ้าไม่เสร็จเราก็ไม่มีให้เขา ก็คือเรื่องนี้ด่วนกว่า ส่วนการส่งประวัติพระอุปัชฌาย์ ต้องส่งวันที่ ๑๕ อาตมากลับไปวันที่ ๑๒ มีเวลาอีก ๓ วัน อย่างไรก็ทำทัน ตรงนี้จึงวางไว้ก่อน มานั่งจารตะกรุดให้เขาก่อน เพราะฉะนั้น..ปัญหาต่าง ๆ ถ้าเรารู้จักแยกแยะ จะเห็นความก่อนหลังเร็วช้าของปัญหา อันไหนมาก่อนก็แก้ไขก่อน เราจะมีปัญหาเดียวอยู่ตรงหน้าตลอด แล้วก็จะไม่เครียดมาก

    เขานั่งฟังไปพักหนึ่ง อาตมาไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาอะไรให้เขาเลย แต่พอเล่าให้เขาฟังเสร็จ เขาบอกว่าสบายใจแล้วครับ ตอนก่อนที่จะมามีปัญหามาเป็น ๑๐๘ คำถามเลย นั่งฟังไปฟังมา ไม่รู้จะถามอะไร กลับได้แล้ว ก็เลยบอกเขาไปว่า วิธีแก้ไข อันดับแรกคือการประนอมหนี้ ถ้าเป็นสถาบันการเงินนี่มักจะกำหนดตายตัว เพราะว่าถ้ามีปัญหาขึ้นมา เขาเองก็เดือดร้อนด้วย เราก็แก้ไขตรงจุดนั้นก่อน อย่างเช่นว่ามีทรัพย์สินอะไรที่พอจะเปลี่ยนเป็นตัวเงินได้ โดยที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนอื่นเพิ่มเติมขึ้นมา เราก็จำหน่ายเอาส่วนนั้นมาคืนเขาก่อน ส่วนที่เหลือก็พอที่จะเจรจากันได้ เพราะว่างานเราก็ยังทำอยู่ เพียงแต่ว่าเราสะดุดเรื่องเงินที่ลูกค้าเขาจ่ายไม่ตรงงวดเท่านั้น ถ้าหากว่าเขาจ่ายตรงงวดขึ้นมา เราก็รีบไปคืนให้เขา คู่ค้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัสดุก็ดี อะไรก็ดี ก็จะไม่มีปัญหาตรงจุดนี้ เพราะเขาเห็นว่าเราตรงไปตรงมา และท้ายที่สุด ให้หันเข้ามาหาการภาวนา โดยเฉพาะถ้าภาวนาคาถาเงินล้านอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยได้เยอะมากเลย

    ปัญหาพวกนี้มักจะมีเป็นปกติทั่ว ๆ ไป มีคำถามหนึ่งที่เขาถามว่า เขาจะอยู่ในลักษณะนี้อีกนานไหม ? บอกเขาไปว่า ถ้าตอบว่าสี่ปีแล้วอย่าช็อกนะ..! เขาบอกว่าถ้าพอหมุนได้ สี่ปีก็ไม่นานหรอก แต่ถ้าไม่ขยับเลย สี่ปีก็นานโคตร..!

    สังเกตได้ว่าในเรื่องทำมาหากิน ในลักษณะที่จะต้องข้องเกี่ยวกับผู้อื่น คนที่อยู่ในศีลในธรรมจะเสียเปรียบเขา เพราะว่าหน้าด้านใจดำไม่พอ เรื่องของการค้าถ้าหากไม่มีคุณธรรมกำกับไว้ ก็จะเป็นเรื่องของคนกินคนเลย..!

    เราจะสังเกตว่าปัจจุบัน ร้านค้าเล็ก ๆ เจ๊งหมด ก็เพราะว่าขาใหญ่เขากินเสียเกลี้ยง จริง ๆ แล้วถ้าหากว่าไม่ได้กู้เงินเขามา พูดง่าย ๆ ว่าเป็นเงินเย็น เปิดร้านสะดวกซื้อแข่งกับพวกห้างยักษ์เขาได้ เพียงแต่ว่าเราต้องใช้การค้าขายแบบโบราณ ปัจจุบันนี้พวกบรรดาร้านสะดวกซื้อเขาฝึกพนักงานให้เป็นหุ่นยนต์ พอเสียงประตูเปิดดังติ๊ง ก็สวัสดีค่ะ แต่ที่เดินเข้ามาคือหมา..! เขาไม่ได้ดูเลย ไม่ได้เงยหน้าขึ้นมาจากงานแต่ก็สวัสดีไว้ก่อน อาตมาไปซื้อของตอนบ่ายสองเขาถามว่า รับซาลาเปาเพิ่มไหมคะ ? บอกว่า "นี่..อีหนู..ดูบ้างสิว่าใคร ไม่ใช่ถึงเวลาก็ถามส่งเดช อย่างไรเจ้านายก็คงไม่ลงทุนปลอมเป็นพระมาตรวจงานหรอก..!"

    ขณะเดียวกันเมื่อเราเปิดร้านขายของเบ็ดเตล็ด ถ้าเราใช้จิตวิญญาณของคนโบราณ มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า มีการตอบโต้ มีการสอบถามกัน บางทีเจอหน้าก็ทักทายกัน แถมให้นิด ลดให้หน่อย แล้วแต่สภาพ นั่นเป็นจิตวิญญาณที่ไม่มีในการค้าสมัยใหม่ตามห้าง สมัยก่อนเขาจึงได้บอกว่า มีอะไรเกิดขึ้นเขารู้ทั้งหมู่บ้าน โดยเฉพาะบรรดาร้านค้าต่าง ๆ จะเป็นศูนย์รวมข่าว มาถึงก็ "เอ้อ..ลูกชายเป็นอย่างไรบ้าง ?" "วันก่อนลูกแกสอบได้หรือเปล่า ?" "ได้ข่าวว่าลูกสาวไปสอบเข้าโรงเรียนในกรุงเทพฯ เป็นอย่างไรบ้างล่ะ ?" พนักงานสมัยนี้มีหรือที่จะถาม ไม่มีหรอก อันนั้นเป็นการรักษาสายสัมพันธ์ระหว่างคนต่อคนและระหว่างบุคคลในชุมชนเอาไว้ด้วย

    จริง ๆ แล้วร้านขายของเบ็ดเตล็ด ถ้าบริหารดี ๆ มีการจัดหมวดสินค้าให้น่าหยิบน่าใช้ เห็นง่าย หาง่าย จะสู้เขาได้สบายมาก เพียงแต่ว่าบางทีวิสัยทัศน์ของคนเราไม่พอ แล้วก็ความเพียรพยายามไม่พอ ขาดอิทธิบาท ๔ ยังไม่ทันที่จะสู้เลย คิดอย่างเดียวว่าแพ้แน่ ถ้าอย่างนั้นก็แพ้ตั้งแต่ในมุ้งแล้ว..!

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๒ ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

    ที่มา : www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...