พุทธประวัติและเถรประวัติจากพระไตรปิฎก

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 3 พฤศจิกายน 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,193
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,596
    ค่าพลัง:
    +26,443
    B3B888BC-62F8-4986-8F46-0965353216DB.jpeg

    โดยเฉพาะในส่วนของเอตทัคคบุคคลนั้น ในอสีติมหาสาวก คือพระสาวกผู้ใหญ่ที่ได้รับการนำประวัติมาให้ศึกษาทั้ง ๘๐ รูป มีเพียง ๔๑ รูปที่ได้เอตทัคคะ คือเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่ามีความสามารถยอดเยี่ยมในทางใดทางหนึ่ง และมีเพียง ๒ รูปที่ได้เกินกว่า ๑ อย่าง

    รูปแรกคือ "พระสุภูติเถระ" ได้เอตทัคคะ ๒ ประการ คือเป็นเอตทัคคะในการอยู่อรณวิหาร ก็คือการอยู่โดยปราศจากกิเลส และเอตทัคคะทางทักขิเณยยบุคคล คือเป็นบุคคลที่คู่ควรแก่การนำข้าวของมาถวายมาทำบุญด้วย เพราะว่าการอยู่อรณวิหารหรือการอยู่โดยปราศจากกิเลสนั้น คือการเข้านิโรธสมาบัติ ในเมื่อเป็นผู้เข้านิโรธสมาบัติ ย่อมเป็นบุคคลที่ควรแก่การทำบุญด้วย

    อีกผู้หนึ่งก็คือ "พระอานนทเถระ" นั่นเอง ได้เป็นเอตทัคคะยอดเยี่ยมใน ๕ ประการ คือเป็นผู้มีสติ เป็นผู้มีคติ เป็นผู้มีความเพียร (ธิติ) เป็นผู้มีความทรงจำเป็นเลิศ (พหูสูตร) เป็นพุทธอุปัฏฐาก เหล่านี้เป็นต้น

    ดังนั้น..สิ่งที่เราต้องจดจำ ถ้าหากว่ารู้จักแยกแยะก็จะจำง่ายขึ้น แล้วขณะเดียวกัน เราต้องเข้าใจว่า คำว่า "อนุ' ในที่นี้แปลว่า ตาม "พุทธะ" แปลว่า รู้ ก็คือรู้ตามที่พระพุทธเจ้าสอน ได้แก่ พระอรหันต์

    เนื่องเพราะว่าพุทธะนั้น อรรถกถาจารย์ท่านแยกออกเป็น ๔ อย่างด้วยกัน ก็คือ

    ๑) สัมมาสัมพุทธะ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

    ๒) ปัจเจกพุทธะ เป็นผู้ที่ต้องการรู้ถ้วนในหลักธรรมทุกประการ แต่ไม่ต้องการสอนใคร ต้องการรู้เฉพาะตนเท่านั้น

    ๓) อนุพุทธะ เป็นผู้รู้ตามที่พระพุทธเจ้าสั่งสอน ก็คือพระอรหันต์

    ๔) สุตพุทธะ เป็นผู้รู้ในการทรงจำพระธรรมพระวินัย อย่างที่ประเทศพม่าในปัจจุบันนี้มีผู้ทรงจำพระไตรปิฎก คือสามารถท่องจำพระไตรปิฎกได้ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ท่านทั้งหลายเหล่านี้จะเรียกว่าสุตพุทธะ ถ้าแปลตรง ๆ คือผู้รู้ในพระสูตร แต่ถ้าจะแปลให้ครบถ้วนก็คือผู้ทรงจำได้ซึ่งพระธรรมวินัย

    คราวนี้การจำได้ไม่ได้แปลว่าทำได้ ก็แปลว่าในพุทธะ ๔ ที่อรรถกถาจารย์กล่าวมานั้น เป็นผู้บริสุทธิ์สิ้นเชิงแค่องค์พระสัมมาสัมพุทธะ องค์พระปัจเจกพุทธะ และองค์อนุพุทธะ แต่ว่าองค์สุตพุทธะนั้น ไม่แน่ว่าจะบรรลุธรรม ดังนั้น..จึงกล่าวได้ว่า สุตพุทธะทุกรูปไม่แน่ว่าจะบรรลุธรรม แต่ผู้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ จัดเป็นสุตพุทธะได้ทุกรุปทุกองค์ ฟังดูแล้วก็อาจจะงง ๆ อยู่นิดหน่อย

    ในเรื่องของพุทธประวัติหรือว่าในเรื่องของเถรประวัติก็ดี ถ้าหากว่าต้องการรายละเอียด ท่านทั้งหลายสามารถหาอ่านได้ในขุททกนิกาย อรรถกถา พุทธวงศ์ จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างบารมีเพื่อความเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และถ้าต้องการจะทราบประวัติพระอสีติมหาสาวก คือพระสาวกผู้ใหญ่ทั้ง ๘๐ รูป เราก็ไปดูในเอตทัคคะปาลิ ซึ่งจะกล่าวถึงบุคคลผู้ได้รับเอตทัคคะ คือความเป็นผู้ยอดเยี่ยมทางด้านใดด้านหนึ่งตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกย่อง

    พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงบอกกับกระผม/อาตมภาพว่า "ถ้าแกยังบวชอยู่ ขอให้อ่านพระไตรปิฎกให้ได้ปีละจบ เพราะว่าข้าเองก็อ่านปีละจบ ถึงได้มีเนื้อหาเรื่องราวต่าง ๆ มาเทศน์ให้ญาติโยมฟังได้โดยไม่รู้เบื่อ"

    แต่ว่าคำสั่งนี้ จนป่านนี้กระผม/อาตมภาพยังไม่สามารถที่จะทำได้สำเร็จ เหตุเพราะว่า ๓๘ ปีผ่านไป เพิ่งจะอ่านพระไตรปิฎกได้ ๗ - ๘ จบ เนื่องจากว่าเป็นบุคคลที่ตีความหลักธรรมตามพระไตรปิฎกแล้ว ถ้าไม่เข้าใจแจ่มแจ้งก็จะไม่ปล่อยผ่าน ทำให้เกิดความยากลำบากอย่างสาหัสในการอ่านพระอภิธรรมปิฎกทั้ง ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ กว่าจะผ่านตาได้แต่ละรอบ เลือดตาแทบกระเด็น..!

    แต่ว่าถ้าหากท่านใดต้องการที่จะอ่านพระไตรปิฎกให้ได้ปีละจบ กระผม/อาตมภาพขอแนะนำพระไตรปิฎกฉบับแก่นธรรม ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ได้ย่อเอาเนื้อหาพระไตรปิฎกลงมาอยู่ใน ๒ เล่มใหญ่ ๆ จาก ๔๕ เล่มที่เคยเป็น

    แต่ต้องระมัดระวังไว้นิดหนึ่งว่า เจ้าของลิขสิทธิ์เดิมก็คือมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยนั้น ได้พิมพ์พระไตรปิฎกฉบับอรรถกถา ๙๑ เล่ม กล่าวถึงบรรดาพระสูตรต่าง ๆ ด้วยการจัดทำของบรรดาพระเถระในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

    ในเมื่อทางด้านมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมาสร้างพระไตรปิฎกบ้าง จึงต้องหลีกเลี่ยงกัน ทำให้บางสูตรบางอย่างนั้นไม่เหมือนกัน อย่างเช่นว่า ถ้าเราจะไปเสาะหาอปริหานิยธรรม ๗ โดยตรงแล้ว เปิดหาให้ตายก็ไม่เจอ แต่ถ้าท่านไปเปิดพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต้องเปิดหาคำว่าปฐมสัตตกสูตร เหล่านี้เป็นต้น

    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
    https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=9048

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
    www.watthakhanun.com

    #พระครูวิลาศกาญจนธรรม #หลวงพ่อเล็ก
    #ชุมชนคุณธรรม #วัดท่าขนุน
    #ชุมชนคุณธรรมวัดท่าขนุน
    #ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร
    #พระพุทธศาสนา #watthakhanun
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...