เรื่องเด่น หลวงปู่บุดดา พระอริยะเจ้าผู้บรรลุฯด้วยการสนทนาธรรม

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย นโมพุทธายะ๕, 12 มกราคม 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,985
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,151
    ค่าพลัง:
    +70,550
    U3r6ZeY18vDtAZXIc8ZerZmOXbq9eR1x7&_nc_ohc=pqV0H1Hu5B4AX_wQfmO&_nc_zt=23&_nc_ht=scontent.fbkk22-7.jpg

    วันนี้วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๕ เป็นวันคล้ายวันมรณภาพหลวงปู่บุดดา ถาวโร

    รำลึก ๒๘ ปี อาจาริยบูชาคุณ "พระอริยเจ้าผู้บรรลุธรรมจากการสนทนาธรรม"

    ซึ่งขณะนั้น ท่านบวชได้เพียง ๔ พรรษา ได้ออกบำเพ็ญสมณธรรมอย่างหนัก ขณะออกธุดงค์ และอยู่รุกขมูลในถ้ำภูคา จ.นครสวรรค์ ท่านได้สนทนาธรรมกับหลวงปู่สงฆ์ พรหมสโร ขณะเถียงข้อธรรมกันอยู่นั้น หลวงปู่บุดดา ได้พิจารณาธรรมตามอรรถ ตามธรรม ขณะนั่งลืมตาอยู่อย่างนั้น ๓ ชั่วโมงจนตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทประหาร หยุดวัฏฏะการเวียนเกิดเวียนตายอีกต่อไป จึงขอน้อมนำชีวประวัติหลวงปู่บุดดา ถาวโร มาเป็นมรณานุสติ และสังฆานุสติครับ


    "คนเราจะเป็นสุขเมื่อรู้จักพอดี ไม่มีใครได้อะไรตลอดไป หรือเสียอะไรตลอดไป ไม่มีใครหรือสิ่งไหนคงอยู่ตลอดไปโดยไม่สูญสิ้น ขอเพียงแค่รู้จักพอดีทุกคนจะเป็นสุข"
    โอวาทธรรมคำสอนหลวงปู่บุดดา ถาวโร


    #ชีวประวัติและปฏิปทาหลวงปู่บุดดา_ถาวโร
    วัดกลางชูศรีเจริญสุข อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี
    #ชาติกำเนิดภูมิลำเนา.....
    เกิดเมื่อวันเสาร์ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗ ที่ตำบลพุคา อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี บิดาของท่านชื่อ น้อย มงคลทอง มารดาของท่านชื่อ อึ่ง มงคลทอง มีพี่น้องทั้งหมด ๗ คน
    #อุปสมบท.....
    วันเสาร์ที่ ๑๕ เมษายน ๒๔๖๕ ที่วัดเนินยาว ต.โพนทอง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี มีพระครูธรรมขันธสุนทร (ม.ร.ว. เอี่ยม บ้านเดิมท่านอยู่ กทม.) เป็นอุปัชฌาย์ และมีคณะสงฆ์ ๒๕ รูป เป็นพระอันดับ ซึ่งหลวงปู่บุดดา ถาวโร นับถือว่าเป็นพระอาจารย์ของท่าน
    • พรรษาแรก #ความมุ่งมั่นอดทนของพระใหม่.....
    เมื่อหลวงปู่บุดดาอุปสมบทแล้ว ท่านจำพรรษาอยู่ ณ วัดเนินขาว จังหวัดลพบุรี ปฏิบัติอุปัชฌาย์ตามแบบแผนของภิกษุสมัยนั้น ไม่มีการศึกษาเล่าเรียนทั้งทางปริยัติหรือปฏิบัติ คงทำวัตรท่องหนังสือสวดมนต์และปาฏิโมกข์ แต่ท่านอ้างเสมอว่าอุปัชฌาย์ทุกองค์ท่านสอน ปัญจกรรมฐานให้แล้วในวันอุปสมบท (นั่นก็คือ อุปัชฌาย์ท่านสอนให้ว่า เกศา – ผม โลมา – ขน นักขา – เล็บ ทันตา – ฟัน และ ตโจ – หนัง และทวนกลับ) ว่าให้พิจารณาสิ่งเหล่านี้ในร่างกายของตนและคนอื่น ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอนเป็นบ่อเกิดของทุกข์ทั้งกายและจิตใจ เป็นของหาที่ยึดถือเป็นตัวตนไม่ได้มานานแล้วทุกคน
    และในพรรษาที่หลวงปู่บุดดาบวชนั้น ได้มีการสร้างศาลามุงสังกะสีขึ้น ซึ่งในการมุงหลังคาคราวนั้นมีเรื่องเล่าความมหัศจรรย์ทางอำนาจจิตของหลวงปู่บุดดา ตั้งแต่สมัยบวชเดือนแรกทีเดียว เพราะในการมุงหลังคาและตามปกติในฤดูร้อน แดดก็ร้อนจัดในตอนบ่ายอยู่แล้วและเมื่อเครื่องมุงเป็นสังกะสีด้วยก็ยิ่งทวีความร้อนมากยิ่งขึ้น พอตกตอนบ่ายทั้งพระและชาวบ้านต่างทนความร้อนไม่ไหวต้องลงมาพักกันหมด คงเหลือแต่หลวงปู่บุดดา ซึ่งเป็นพระบวชใหม่ยังไม่ครบเดือน มุงหลังคาอยู่ข้างบนองค์เดียวจนสำเร็จ
    เมื่อรับกฐินแล้วแต่พรรษาแรก หลวงปู่บุดดา ท่านออกจาริกแสวงหาสถานที่วิเวกเจริญสมรธรรมตามอัธยาศัยองค์เดียวโดยไม่มีกลดมีมุ้งแบบอุทิศชีวิต และเลือดเนื้อเป็นทานอยู่นานจนเลือดแดงฉานติดจีวรและบินไปไม่ไหว
    • พรรษาที่ ๒ #ธุดงค์เดี่ยว.....
    เมื่อกลับจากธุดงค์พอใกล้เข้าพรรษาท่านเข้ามาจำพรรษาที่วัดผดุงธรรม จังหวัดลพบุรี พอออกพรรษาท่านก็ธุดงค์ไปองค์เดียวอีกเหตุอัศจรรย์ผจญวัวป่า หลวงปู่บุดดา ท่านเดินธุดงค์ไปหนองคายโดยออกจากจังหวัดลพบุรีไปทางจังหวัดเพชรบูรณ์ ผจญเข้ากับวัวป่าฝูงหนึ่ง มันคงแปลกใจว่า เอ๊ะ ? อะไรนะ เป็นอันตรายกับพวกเขาหรือเปล่า หัวหน้าฝูงนั้นเข้ามาดม ๆ ดู แล้วก็ร้องมอ ๆ คล้ายกับจะบอกพรรคพวกว่า ไม่เป็นไรหรอก ไม่มีอันตราย เข้ามาได้แล้ว ตัวอื่นก็เข้ามาดมจนครบทุกตัวแล้วก็เลยไป
    คุณธรรมของท่านนั้นแม้แต่เดรัจฉานก็ส่งภาษาใจให้ผู้รู้เรื่องกันได้ หลวงปู่บุดดา พูดเสมอว่าภาษาธรรมนั้น ก็คือภาษาใจ อยู่ที่ไหนก็รู้กันได้ มนุษยธรรม เทวธรรม พรหมธรรม โลกุตรธรรม
    #พบซากศพตนเองในอดีต.....
    คราวนี้ท่านได้สอบดูนิมิตสมัยเด็ก ๆ ของท่านว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่นอกนครเวียงจันทร์ไม่ไกลนัก ซึ่งเมื่อถึงแก่กรรมแล้ว เขาก็นำเอาศพในอดีตชาติของท่านไปฝังไว้ และไม่ได้เผา ในนิมิตนั้นท่านเห็นกะโหลกศีรษะขาวโพลน โผล่ดินขึ้นมาตรงตอพุดซา ท่านจึงไปสอบดูตามนิมิต และได้พบกะโหลกศีรษะมนุษย์ ในภูมิประเทศคล้ายคลึงกัน แต่กะโหลกที่พบจริงไม่ขาวเท่าในนิมิต และตอพุดซาไม่มีแล้วท่านจึงได้เผากระดูกนั้นด้วยตนเอง
    • พรรษาที่ ๓ #จารพระไตรปิฎก.....
    ขณะที่ไปสอบดูตามนิมิตก็ใกล้เข้าพรรษาแล้ว ท่านได้จำพรรษา ณ วัดบ้านทุ่ง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย และในขณะที่ข้ามไปเวียงจันทร์ได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์และวัดพระแก้วที่เวียงจันทร์ ท่านระลึกถึงอดีตชาติเมื่อเห็นตู้พระไตรปิฎกและจารด้วยตนเอง แต่สมัยเป็นสามเณรต่อมาเป็นภิกษุและเป็นสมภารเจ้าวัดในที่สุด ได้จารพระไตรปิฎก บรรจุไว้จนเต็ม ๓ ตู้ ท่านว่าได้เป็นสมภารเจ้าวัดในฝั่งลาว ๓ สมัย ตายตั้งแต่ยังไม่พ้นวัยกลางคน ที่ท่านไปพบตู้ที่สร้างไว้นั้นไม่มีพระไตรปิฎกแล้ว
    ขณะที่ท่านพักอยู่ ณ วัดบ้านทุ่ง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย คราวหนึ่งท่านต้องไปกิจนิมนต์ร่วมกับภิกษุหลายรูปด้วยกัน ไปทางเรือตามลำน้ำโขงปรากฏว่าเรือเกิดจมลง พระรูปอื่นต่างว่ายน้ำหนีจากเรือหมด เหลือแต่ท่านองค์เดียวในเรือ และน้ำท่วมเกือบถึงคอแล้วพอดีชาวบ้านเอาเรือไปรับนิมนต์ท่านขึ้นเรือแล้วเรือก็จมหายไป
    #พบบิดาในอดีตชาติ.....
    พอออกพรรษารับกฐินเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ออกเดินทาง และในระหว่างทางนั้น ท่านได้พบกับหลวงพ่อสงฆ์ พรหมสโร ซึ่งออกจาริกไปตามป่าเขาทำนองเดียวกับท่าน หลวงพ่อสงฆ์ผ่านพรรษา ๔ แก่กว่าหลวงปู่บุดดาหนึ่งพรรษา แต่อายุหลวงพ่อสงฆ์แก่กว่าท่านหลายปี เพราะท่านบวชภายหลังมีครอบครัวแล้ว และเมื่อท่านพบหลวงพ่อสงฆ์ ท่านก็ระลึกได้ว่า เคยเป็นบิดาของท่านในอดีตชาติ ท่านก็เรียกคุณพ่อสงฆ์ตั้งแต่แรกพบจนถึงที่สุดแห่งวาระของท่านเอง
    #ถ้ำนี้มีคุณ...
    ท่านทั้งสองได้ร่วมจาริกแสวงหาที่วิเวกอันเหมาะแก่การเจริญภาวนาเรื่อยมา จนมาพบถ้ำคูคา ตำบลหัวหวาย อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นถ้ำกว้างมีปล่องทะลุกลางเขาลูกย่อม ๆ อยู่ในดงยาง เป็นชัยภูมิร่มรื่น มีหนองน้ำใหญ่อยู่ห่างจากหน้าถ้ำไปทิศตะวันออกของทางรถไฟสายเหนือห่างประมาณ ๑ กิโลเมตร อยู่ระหว่างสถานีดงมะกุและสถานีหัวหวายห่างจากหมู่บ้านทั้ง ๒ ตำบล ข้างละประมาณ ๒ กม. เศษ ปากถ้ำอยู่ทางตีนเขา ภายในถ้ำลมถ่ายเทได้ดี
    ท่านได้อาศัยภายในถ้ำนี้และแยกกันอยู่คนละฟาก ได้อาหารบิณฑบาตจากหมู่บ้านดังกล่าว ถ้ำภายในเขาภูคานี้เป็นที่สงบและวิเวกปากถ้ำเรียบเป็นดิน เชิงเขาลาดขึ้นพอบรรจบถึงเขาก็เป็นปากถ้ำพอดี กว้างราว ๖-๗ เมตร สูง ๓ เมตรเศษ เป็นดินราบขึ้นไปจนถึงยอดมีแท่นราบตรงกลางปล่องตรงกับยอดเขาพอดี ปล่องถ้ำเหมือนรูปงอบใบใหญ่สูงกว่าปากถ้ำเล็กน้อย ขอบล่างลาดลงโดยรอบเป็นช่องและชอกมากบ้าง น้อยบ้าง
    สถานที่ท่านใช้พักผ่อนและจำวัด ปรากฏว่าตรงที่ท่านใช้ภาวนานั้น มีปล่องลมหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา ส่วนที่จำวัดก็หลบเข้าไปในช่องไม่ถูกลมเลย ก่อนที่ท่านจะมาอยู่ในถ้ำนี้ มีแคร่ร้างแสดงว่ามีบุคคลอื่นมาใช้สถานที่นี้ก่อนแล้ว
    สถานที่ท่านใช้เป็นที่เดินจงกรมในตอนบ่ายและพักผ่อนสนทนาธรรมกันตอนเย็นนั้นเป็นบริเวณสันเขาตอนใต้ เป็นทางลาดขึ้นปากถ้ำได้สะดวก ใช้ด้านตะวันออกเป็นที่ลาดเดินจงกรม มีต้นไม้และสันเขาช่วยกำบังแดดในตอนบ่าย
    #ตะขาบเจ้ากรรม...
    ตอนอยู่ถ้ำภูคานี้แม้จะสนทนาก็ต่างองค์ต่างอยู่ในที่ของตน คราวหนึ่งเสียงของหลวงปู่บุดดาเงียบหายไป หลวงพ่อสงฆ์ผิดสังเกตจึงเดินไปดูก็เห็นหลวงปู่บุดดานั่งหลับตา มีตะขาบตัวใหญ่มากขึ้นไปขดอยู่กลางศีรษะของท่าน หลวงพ่อสงฆ์ต้องเอาผ้าอาบของท่านหย่อนลงให้ตะขาบไต่ขึ้นผ้าแล้วจึงเอาไปปล่อยนอกถ้ำ
    หลวงปู่บุดดา ท่านเล่าว่า มันไต่ขึ้นภายในสบงผ่านเอวแล้วผ่านหลังท่านขึ้นไป ท่านจึงต้องกลั้นลมหายใจ ปิดหู ปิดตา จมูก ปากหมด เจ้าตะขาบจึงเข้าไม่ได้ เมื่อหลวงพ่อสงฆ์เอาไปปล่อยปรากฏว่ามันกัดตัวเองจนขาดเป็นท่อน ๆ กองอยู่ที่ปล่อยนั่นเอง
    • พรรษาที่ ๔ #ตัดกิเลสบรรลุธรรม.....
    เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๘ พอใกล้เข้าพรรษา ท่านทั้งสองได้ไปจำพรรษา ณ วัดป่าหนองคู จ.นครสวรรค์ และพอออกพรรษาก็กลับมาร่วมปฏิบัติธรรม ณ ถ้ำภูคา จ.นครสวรรค์ โดยต่างเร่งความเพียรเจริญสมณธรรม อย่างเต็มที่เกือบจะไม่ได้พักผ่อน และในคืนวันหนึ่งเวลาประมาณระหว่าง ๒๐.๐๐ น. ถึง ๒๓.๐๐ น. ซึ่งเป็นเวลาสนทนาธรรมของทั้งสองท่าน หลวงพ่อสงฆ์ได้ถามหลวงปู่บุดดาว่า “...ยังถือวินัยอยู่หรือ” หลวงปู่บุดดา ตอบว่า “...ไม่ถือวินัยได้ไง ถ้าเราจะเดินผ่านต้นไม้-ของเขียวก็ต้องระวัง...มันจึงเป็นอุปาทานทำความเนิ่นนานต้องช้ามาถึง ๔ พรรษา” หลวงพ่อสงฆ์ว่า “วินัยมันมีสัตว์-มีคนรึ” หลวงปู่บุดดาว่า “มีตัวซี ถ้าไม่มีตัวจะถือวินัยได้ยังไง...วินัยก็ผู้ถือนั่นเอง ...เสขิยวัตร ๗๕ เป็นตัวไม่ได้หรอก ...เนื้อหนัง กระดูก ตับไต ไสพุง มันไม่ใช่ตัวถือวินัย...ตัวถือวินัยเป็นธรรมนี่” ....เถียงกันไป เถียงกันมาชั่วระยะหนึ่ง... พอปัญญา-บารมีเกิดขึ้นตกลงกันได้ว่า “เอ๊ะ ! ไม่มีจริง ๆ เน้อ ...ผู้ถือไม่มี มีแต่ระเบียบของธรรมเท่านั้น ไปถือมั่น-ยึดมั่นไม่ได้นี่”
    พอหยุดความลง ทันใดนั้นเองหลวงพ่อสงฆ์เพ่งมองดูเห็นหลวงปู่บุดดา จู่ ๆ ก็นิ่งเงียบนัยน์ตาลืมค้างอยู่ ไม่กระพริบตา เบิกตาโพลงอยู่อย่างนั้น เนิ่นนานอยู่ประมาณสองชั่วโมงกว่าถึง กลับมาพูดได้-ทั้งนี้ก็เพราะว่าหลวงปู่บุดดาได้ใช้ปัญญาตัดกิเลสได้แล้วในขณะที่นั่งลืมตา ซึ่งหลวงปู่บุดดา บอกว่าถ้าเกิดปัญญาขึ้นในอิริยาบถทั้ง ๔ ซึ่งขณะนั้นถ้าลืมตาตัดก็ต้องลืมตาตัด ถ้านั่งตัดก็ต้องนั่งตัด ถ้ายืนตัด เดินตัดหรือนอนตัดก็ต้องยืนตัด-เดินตัด หรือนอนตัด ขึ้นอยู่ว่าใครจะตัดกิเลสได้ขณะไหน... อย่างพระอานนท์ตัดได้ตอนเอนกายขณะกำลังจะนอนนั่นเอง...
    สำหรับหลวงปู่บุดดา ขณะมีอายุได้ ๓๒ ปี-พรรษาที่ ๔ ซึ่งถ้ายังใช้กรรมไม่หมดก็ไม่ถึง โลกกุตระ แต่พอใช้หนี้กรรมหมดแล้วก็เป็นอโหสิกรรม ขณะนั่งลืมตาอยู่ก็บรรลุธรรมได้
    หลวงปู่บุดดา บอกว่า “ขณะนั้นอวิชาดับหมด รู้สึกสว่างแจ้งขึ้นมาเอง ความไม่มีตัวตนเห็นได้ชัดเจนทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบ ๆ ตัว เป็นปรมัตถธรรม ธรรมทุกอย่างเป็นธรรมชาติส่วนกลาง คงอยู่ในจิตของตนเอง กิเลสหลุดไปเอง แต่ชีวิตยังคงอยู่มีความเป็นปรกติทุกอย่าง ทั้งกายสังขาร-จิตสังขารก็หยุด รูปก็หยุดหมด ไม่มีสัตว์เกิดสัตว์ตาย กิเลสไม่มีในตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ขันธ์ของกิเลสก็ไม่มีในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ...สุดชาติของอาสวะของสังโยชน์ ๑๐ อนุสัย ๗ ออกวันเดียวกันและเวลาเดียวกันนั่นแหละ...”
    หลวงพ่อสงฆ์ท่านนั่งเฝ้าหลวงปู่บุดดาอยู่นานกว่าสามชั่วโมงแล้วจึงออก “นิมนต์เถอะครับ...แน่นอนแล้ว” พอรุ่งเช้าถึงเวลาออกบิณฑบาต หลวงพ่อสงฆ์บอกว่า “โลกกุตระธรรมแล้วขอนิมนต์ให้หลวงปู่บุดดาเดินหน้า”แต่หลวงปู่บุดดาว่า“หน้าก็หน้าคุณธรรม แต่พรรษาอ่อนกว่าต้องเดินหลังซี !” ตกลงหลวงปู่บุดดาคงเดินตามหลังหลวงพ่อสงฆ์เหมือนเดิม
    ต่อมาอีกไม่กี่วันหลวงพ่อสงฆ์ ซึ่งเร่งปรารภความเพียรมาอย่างหนักก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ณ ถ้ำภูคาเช่นเดียวกัน ท่านไม่ถือทั้งนามและรูป เพราะการหลงนาม หลงรูป มันก็หลงเกิด หลงตาย ไม่มีสิ้นสุด (ในช่วงบั้นปลายของชีวิตท่านได้มาพักจำพรรษาที่วัดอาวุธวิกสิตาธรรม เขตบางพลัด กทม. ตลอดมา จนถึงแก่มรณภาพ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙)
    หลังจากจบกิจ พรรษาที่ ๔ แล้วท่านได้ออกจาริกทั่วทั้งประเทศไทยตลอดจนถึงพม่า ลาว เขมร เวียดนาม มาเลเซีย และได้ออกเทศนาสั่งสอนทั้งภิกษุ สามเณร ตลอดจนพุทธศาสนิกชน ด้วยการสั่งสอน โปรดสัตว์ ช่วยการก่อสร้างถาวรวัตถุระดับคุณธรรมให้สูงขึ้นทุกเพศชั้นวรรณะโดยหลวงปู่บุดดา ได้ออกเยี่ยมเยียนจนถึงที่อยู่ เช่นเดียวกับสมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้า ซึ่งได้กล่าวแก่สาวกทั้งหลายว่า จงจาริกไปเพื่อประโยชน์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

    #พบครูบาศรีวิชัย.....
    หลวงปู่บุดดา จำพรรษา ณ วัดราชานิวาส สมเด็จพระสังฆราชในขณะนั้นคือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิตร ครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ หลวงปู่ได้ไปเยี่ยมท่านครูบาศรีวิชัยที่วัดเบญจมบพิตร ท่านเล่าว่าครูบาศรีวิชัยเห็นหลวงปู่ไม่พาดสังฆาฏิ จึงทักท้วงว่า “เราเป็นนายฮ้อยก็ต้องให้เขารู้ว่าเป็นนายฮ้อยไม่ใช่นายสิบ” นี่คือสาเหตุที่หลวงปู่บุดดา ท่านไปไหนก็ตามท่านจะพาดสังฆาฏิเสมอ ครูบาศรีวิชัยได้ถวายคนโทน้ำที่ท่านใช้ให้หลวงปู่บุดดาลูกหนึ่ง คนโทลูกนั้นคงยังอยู่ที่วัดราชาธิวาสนั่นเอง พอออกพรรษาท่านจากไปก็เพียงบาตร ห่อผ้าอาบน้ำและร่มเท่านั้น ถ้าออกป่าก็มีกาน้ำอีกลูกหนึ่ง
    หลวงปู่บุดดา ได้เคยไปสนทนาธรรมพบปะ และเยี่ยมเยียนกันกับพระเถระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบหลาย ๆ ท่าน ได้แก่ ครูบาศรีวิชัย หลวงปู่มั่น สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมเด็จสังฆราชญาณสังวรฯ หลวงพ่อเติม หลวงพ่อสด หลวงพ่อจาด หลวงพ่อจง หลวงพ่อรุ่ง หลวงพ่อเงิน หลวงพ่ออี๋ หลวงพ่อปาน มีทั้ง ๓ ปาน ครูบาพรหมจักร ท่านเจ้าคุณนรฯ เจ้าคุณอุบาลี สมเด็จพุฒาจารย์ (อาสภเถระ) หลวงปู่ดู่ หลวงปู่ชา ท่านพุทธทาส หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่สิม หลวงพ่อฤาษีลิงดำ หลวงปู่วัย หลวงพ่อสังวาลย์ หลวงพ่อพุธ ครูบาชัยวงษา หลวงพ่อแพ หลวงปู่ชอบ หลวงปู่แว่น หลวงพ่อคง จันตตามโร ครูบาธรรมชัย หลวงพ่อมหาอำพัน หลวงปู่สาม หลวงปู่โง่น หลวงพ่อเพ็งฯ หลวงพ่อบุญเพ็ง หลวงปู่เหรียญ อาจารย์วิชัย อาจารย์จำเนียร อาจารย์จรัล หลวงพ่อเหรียญ หลวงพ่ออุตตมะ ฯลฯ

    #สอนเจ้าคุณ ๘ ประโยค.....
    หลวงปู่บุดดา ถูกนิมนต์ให้ไปเทศน์คู่กับท่านเจ้าคุณองค์หนึ่ง ท่านก็คงเห็นหลวงปู่บุดดา เป็นพระบ้านนอกรุ่มร่ามทำนองนั้น และไม่มีประโยคประธานใดๆ เพียงพระบุดดาธรรมดาๆ เท่านั้นท่านเจ้าคุณได้ถามหลวงปู่บุดดา ว่า “ท่านจะเทศน์เรื่องอะไร” หลวงปู่บุดดาก็ตอบว่า “เรื่องตัวโกรธ กิเลสตัณหา” ท่านเจ้าคุณก็ถามว่า “ตัวโกรธเป็นอย่างไร” หลวงปู่บุดดาก็พูดว่า “ส้นตีน ไงละ” เจ้าคุณโกรธจนหัวฟัดหัวเหวี่ยง และไม่ยอมเทศน์ร่วมกับหลวงปู่บุดดา หลวงปู่บุดดาท่านต้องเทศน์องค์เดียวเมื่อเทศน์จบแล้วท่านไปขอขมาเจ้าคุณเข้าใจว่าตัวโกรธเป็นอย่างนี้
    #ช่วงบั้นปลายชีวิต.....
    เมื่อวันที่ ๖ ก.พ. ๒๕๓๖ หลวงปู่บุดดา ได้ไปร่วมพิธีทำบุญ ๑๐๐ วัน หลวงพ่อพระราชพรหมยานเถร (หลวงพ่อฤาษี) ณ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี หลังท่านกลับถึงวัดกลางชูศรีเจริญสุขแล้วเวลาประมาณ ๐๑.๐๐ น. หลวงปู่มีอาการป่วยกะทันหัน พระครูโสภณจารุวัฒน์ (พระอาจารย์ มหาทอง) จึงได้นำส่งโรงพยาบาลสิงห์บุรี นายแพทย์วิศิษฐ์ ถนัดสร้าง ได้นำหลวงปู่บุดดาเข้าเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ที่โรงพยาบาล หมอประเจิดพบว่าสมองด้านซ้ายฝ่อเส้นโลหิตอุดตัน และปอดอักเสบ หลวงปู่หอบเพราะเสมหะตกค้างในปอดมาก แพทย์ตัดสินใจใส่ท่อช่วยหายใจทางปาก
    - ๙ ก.พ. ๒๕๓๖ สมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับหลวงปู่เข้าเป็นคนไข้พระราชูปถัมภ์ คณะแพทย์สิงห์บุรีจึงได้นำหลวงปู่ส่งโรงพยาบาล ศิริราช ณ ห้องไอซียู โดยมี ศ.พ.ญ. นันทา มาระเนตร์ เป็นแพทย์เจ้าของไข้
    - ๑๑ ม.ค. ๒๕๓๗ ช่วงกลางคืนอาการหลวงปู่บุดดาสุดวิสัยที่คณะแพทย์จะเยียวยารักษาได้
    #วันดับขันธ์แห่งดวงประทีปพุทธศาสนา.....
    เช้าของวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๗ อาการของหลวงปู่บุดดาได้ทรุดหนักลง พระมหาทอง (พระครูโสภณจารุวัฒน์) เจ้าอาวาสวัดกลางชูศรีเจริญสุข ซึ่งคอยเฝ้าสังเกตอาการของหลวงปู่บุดดาเห็นดังนั้น จึงได้แจ้งให้คณะแพทย์ทราบโดยคณะแพทย์ได้เรียกระดมแพทย์ที่ให้การรักษามาทำการเยียวยาอย่างสุดความสามารถ
    พระมหาทองได้เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ท่านได้เฝ้าดูอาการหลวงปู่บุดดามาอย่างใกล้ชิด จึงคาดว่าไม่ช้านี้หลวงปู่บุดดา คงมรณภาพเพราะอาการขณะนี้มีเปอร์เซ็นต์ให้หวังได้เพียงแค่ ๓ เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ระบบการหายใจแย่ลงทุกที หลวงปู่บุดดา เคยสั่งเอาไว้ว่าหากท่านมรณภาพไม่ให้จัดพิธีงานศพใดๆ ทั้งสิ้นด้วยเกรงว่าจะเป็นการสิ้นเปลือง แต่แล้วเมื่อเวลา ๑๙.๓๐ น. ทางคณะแพทย์ได้แจ้งให้บรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายได้ที่เฝ้ารอดูอาการของหลวงปู่บุดดา ที่หน้าห้องไอซียู ว่าหลวงปู่บุดดา ได้ละสังขารไปอย่างสงบแล้ว เหมือนสายฟ้าฟาดลงมายังบรรดาสานุศิษย์ที่มารอฟังข่าวของหลวงปู่บุดดา และยังเป็นข่าวร้ายอีกด้วย
    เป็นเวลา ๓๔๐ วัน ที่หลวงปู่บุดดา ต้องทนต่อสู้กับโรคปอดบวม สมองซีกซ้ายฝ่อและเส้นโลหิตอุดตัน ท่ามกลางความเศร้าสลดของบรรดาคณะแพทย์ที่ให้รับการรักษาและสานุศิษย์ทั้งหลายที่มารอเฝ้าดูอาการจนวาระสุดท้ายก่อนจะสิ้นลม ตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๒ ปีจอ วันพุธที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๗ สิริรวมอายุ ๑๐๑ ปี ๗ วัน ๗๓ พรรษา
    ดวงประทีปแห่งพุทธศาสนาได้ดับสูญไปอีกดวงหนึ่งแล้ว แต่สิ่งที่หลวงปู่บุดดาได้สอนไว้ยังคงอยู่
    ศิษย์กราบเรียนถาม : "หลวงปู่ครับ ทำยังไงจึงจะถึง นิพพานเร็ว ๆ ครับ"
    หลวงปู่บุดดา : "ดูปัจจุบันบ่อยๆ สิ ถึงเองแหละ อุเบกขาต่ออดีต อนาคตเสีย มีตัวปัจจุบันเอกัคคตา กายไม่มีบาปมีกรรม เอกัคคตาจิตไม่มีอารมณ์ ๖ เหลืออารมณ์เดียว กายเป็นอารมณ์ของจิต
    วิปัสสนาปัญญาตรัสรู้ที่ กายสงบ จิตสงบ นี่ เป็นตัวสมถะ ... พอเห็นกายกับจิต เกิดดับ ก็เป็นวิปัสสนา ขององค์มรรค ๘ แก้ปัจจุบันต่างหากเล่า แก้กิเลสมาร ก็แก้ที่ปัจจุบัน อยู่ที่กายปัจจุบัน จิตปัจจุบัน
    พุทธะ ก็อยู่นี้ ... ธรรมะ ก็อยู่นี้ ... สังฆะ ก็อยู่นี้ ปริยัติ อยู่ปัจจุบัน, ปฏิบัติ ก็ปัจจุบัน, ปฏิเวธ ก็ปัจจุบัน เอโกธัมโม ธรรมมีอันเดียว ธรรมไม่เกิดไม่ตาย ก็เข้านิพพานตรงนี้
    ... มันจะต้องไปยากอะไรเล่า พอถึงแล้วก็ไม่ตาย ก็เป็นนิพพานแล้ว มันจะไปยากอะไร"
    กราบ กราบ กราบ
    •• •••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••• ••
    #อ้างอิงบรรณานุกรม : คัดลอกจากหนังสือ " ๑ ศตวรรษ หลวงปู่บุดดา ถาวโร วัดกลางชูศรีเจริญสุข จ.สิงห์บุรี ; พิมพ์เมื่อ ๕ มกราคม ๒๕๓๖
    _/\_ _/\_ _/\_


    https://web.facebook.com/ท่องถิ่นธรรม-พระกัมมัฏฐาน-196619973707839
     
  2. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,985
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,151
    ค่าพลัง:
    +70,550
     
  3. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,985
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,151
    ค่าพลัง:
    +70,550
     
  4. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,985
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,151
    ค่าพลัง:
    +70,550
    หลวงปู่บุดดา

    จากหนังสือ "กระโถนข้างธรรมาสน์" ฉบับที่ ๗๕ หน้า ๒

    ช่วงแรกของเล่ม "งานฉลองวัดหนองบัว"

    สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ (ต่อ)

    ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

    โดย พระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ

    คัดลอกจาก http://www.grathonbook.net/book/75.2.html

    rosebar-2.gif

    lp-budda-04.jpg
    ถาม : ...............................

    ตอบ : การทำบุญไม่มีมากไม่มีน้อย สำคัญตรงกำลังใจสละออก ถ้าคนเขามี ๑๐๐ บาท เขาทำ ๒๐ บาท ก็ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ แต่คนมี ๑,๐๐๐ ล้านบาท ทำมา ๑ ล้านบาท เป็นเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่มากไม่ใช่น้อย สำคัญตรงกำลังใจสละออก การทำบุญที่พระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญก็คือ ทำแล้วตัวเองและคนรอบข้างไม่เดือดร้อน

    เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องโลกไม่ช้ำธรรมไม่เสีย มันถึงจะเป็นทางสายกลาง การทำบุญ ถ้าทำแต่น้อยและทำบ่อยๆ กำลังใจมันจะเคยชินในการสละออก อานิสงส์จะมากกว่า เพราะได้ทำบ่อย ขณะเดียวกันคนที่มี ๑๐๐ ควัก ๕๐ โห! คิดมากเลย ที่เหลือพอใช้ไหมวะ

    เรื่องเงินต้อง หลวงปู่บุดดา หลวงปู่ท่านเป็นพระธรรมยุต พระธรรมยุตเขาไม่จับเงิน แต่ (ที่เห็น) หลวงปู่บุดดาจับเงินหน้าตาเฉย เพราะว่า (ครั้งหนึ่ง) หลวงปู่ไปวัดท่าซุง ลูกศิษย์สายวัดท่าซุงนี่มันเคยชินในการถึงเวลาแล้วถวายเงิน เอาไป (ถวาย) แล้วก็กองๆ ตรงหน้าหลวงปู่เยอะแยะไปหมด คนทนไม่ได้ เอาถุงก๊อบแก๊บมาใบหนึ่งวางไว้ แล้วก็กวาดเงินใส่ถุง คนต่อไปก็ใส่ถุงๆ

    ถึงเวลาหลวงปู่จะกลับ ลูกศิษย์ก็จัดแจงผูกปากถุง แล้วก็ (ส่งถวายหลวงปู่บุดดาและพูดว่า) หลวงปู่ครับ หลวงปู่ท่านก็แหวกย่ามเสียกว้างเลย กลัวถุงเงินถูกมือ พอลูกศิษย์หย่อนลงไป หลวงพ่อ(ฤๅษีฯ) ถาม "อ๋อ! กลัวเงินใช่ไหม ไม่ใช้เหรอ" แล้วก็ดึงมาเลย

    หลวงปู่บุดดาตะครุบสองมือเลย บอก "จับแล้วครับ"

    "เออ! มันต้องอย่างนั้นสิ มันก็แค่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ แค่นั้น ถ้ายังให้มันเป็นอันตรายกับใจตัวเองได้อย่าเอาเลย เดี๋ยวผมใช้แทนเอง"

    ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลวงปู่บุดดาจับเงินตลอด

    หลวงปู่บุดดานี่เป็นเรื่องอัศจรรย์มากคือจะเรียกว่า ท่านเป็น ปาปมุต ก็ได้ คำว่า ปาปมุต คือ ผู้พ้นจากบาปโดยสิ้นเชิง ในสมัยก่อนตามพระวินัยท่านบัญญัติไว้ว่า บุคคลที่เป็นพระอรหันต์แล้วถ้าทำอะไรคนจะตำหนิได้ นี่เขาให้สวดประกาศว่าท่านเป็นพระอรหันต์ แล้วเรียกว่า สติวินัย คือประกาศว่าท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว เรื่องอาบัติเล็กๆ น้อยๆ คนจะได้ไม่ไปกล่าวโทษท่าน

    หลวงปู่บุดดาท่านเป็นพระธรรมยุต ผู้หญิงอยากจะนวด ท่านก็ให้เขานวด เขาถวายเงินมาท่านก็จับเงิน ไม่มีพระธรรมยุตองค์ไหนกล้าว่าสักคำ มีแต่เห็นด้วย

    เพราะว่าตั้งแต่ต้นจนปลายหลวงปู่ท่านปฏิบัติบริสุทธิ์จริงๆ บริสุทธิ์ชนิดที่ไม่มีใครกล้าตำหนิ หรือไม่มีใครระแวงสงสัยท่านแม้แต่นิดเดียว อัศจรรย์ไหม ปกติพระธรรมยุตใครจับเงินนี่กัดตายเลย อันนี้ไม่ได้ตำหนิท่านนะ เพียงแต่ท่านอยากให้เราดีตามท่าน แต่ท่านเอาความหวังดีมาขายผิดที่ อาตมาไม่ค่อยจะดีด้วยหรอก

    สมัยไปอยู่กับหลวงปู่มหาอำพัน ที่วัดเทพศิรินทร์ ถึงเวลาโยมมาถวายเงิน เราอยู่วัดเทพศิรินทร์นี่ ท่านเป็นวัดธรรมยุต เราก็ต้องรักษาระเบียบให้ท่านใช่ไหม พอโยมถวายเงิน (อาตมา) ก็บอกว่า "เอาวางไว้นั่นนะจ๊ะโยม เดี๋ยวลูกศิษย์มาจะให้ลูกศิษย์เขาหยิบเอง" โยมก็เขียนใบปวารณาแล้วเอาสตางค์ทับไว้ พอโยมหันหลังพ้นรั้ว อาตมาก็คว้าเลย หลวงปู่ (มหาอำพัน) ยิ้มแต้เลย คือท่านรู้ว่า ต่อหน้า เรารักษาหน้าของท่าน ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวคนจะว่าท่านด้วย

    หลวงพี่มนตรี เป็นพระที่อยู่กับหลวงปู่บุดดา พระธรรมยุตไปไหนเขาต้องเอาเด็กวัดหรือเณรไปด้วย เพื่อให้เป็นคนจับสตางค์แทน หลวงพี่มนตรีก็ชวนลูกศิษย์ที่เป็นคนอีสานไปอีสานด้วยกัน ลูกศิษย์ก็ถือกระเป๋าท่าน ถึงเวลาก็จ่ายค่ารถ คราวนี้นั่งรถ มันแปลกว่า เขาพยายามจับพระให้นั่งอยู่หลังคนขับ ส่วนฆราวาสนั่งตรงไหนก็ได้ ลูกศิษย์ก็ไปนั่งเบาะหลัง เพราะรถ ๒ ประตู ลูกศิษย์มันเห็นถึงบ้านมันๆ ก็กระโดดลงเลย หลวงพี่มนตรีไม่เคยไป ไม่รู้นี่หว่าว่าถึงบ้านมันแล้ว หันมาอีกทีลูกศิษย์หายแล้ว ตัวเองไม่มีสตางค์สักสลึงหนึ่งจะกลับอย่างไร ท่านบอก "คุณเอ๋ย! กว่าผมจะบิณฑบาตตั๋วรถขากลับมาได้นี่อายเขาแทบตายเลย มีแต่คนคิดว่าผมไปต้มเขา" เป็นอย่างไรผลความลำบากของการเป็นพระธรรมยุต ไปไหนต้องหาลูกศิษย์ไปคนหนึ่ง

    สิกขาบทที่ ๘ แห่งโกสิยวรรค นิสสัคคิยปาจิตตีย์ กล่าวไว้ว่า ภิกษุรับเงินและทองหรือสิ่งของที่ใช้แทนเงินทองต้องอาบัติ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ หมายความว่า ศีลขาดแล้ว ต้องสละของนั้นทิ้งก่อน ถึงจะต่อศีล หมายความว่า แสดงอาบัติคืนได้

    สิกขาบทที่ ๙ ท่านบอกว่า ภิกษุรับเองก็ดี ให้ผู้อื่นรับแทนก็ดี ซึ่งเงินและทอง หรือสิ่งของที่ใช้แทนเงินทอง ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ตกลงหยิบเอง หรือให้ลูกศิษย์หยิบโดนเท่ากัน อาตมาหยิบเองดีกว่า สะดวกกว่าเยอะเลย เพราะฉะนั้นอาตมาหน้าด้านอยู่หน่อยๆ ถึงเวลาก็นับเอง รับเองสบายใจดี

    ถาม : ไม่ดีเพราะว่าคนเห็นแล้วเกิดเขานึกไม่ดีแล้วปรามาส เขาก็ตกนรกแทน

    ตอบ : ไม่เป็นไร ให้มันตกไป

    ถาม : อ้าว เวรกรรม

    ตอบ : เขาเรียกว่า สวรรค์มีทางเจ้าไม่ไป นรกไร้ประตูกกลับตะกายมา สมควรลง

    ถาม : ไม่รับแบ่งครึ่งหรือครับ ?

    ตอบ : พยายามช่วยเขาอยู่ แต่คราวนี้ตรงนี้มันต้องใช้คำว่าจำเป็น ไม่อย่างนั้นใครจะมาเช็คยอดลงบัญชีให้เราทันล่ะ มันก็ต้องลงเอง

    bar-red-lotus-small.jpg
     
  5. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,985
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,151
    ค่าพลัง:
    +70,550
    ครั้งหนึ่งมีผู้นำพระหลวงปู่บุดดา ถาวโร ไปให้ครูบาสร้อย วัดมงคลคิรีเขต จ.ตาก ผู้ที่นำพระได้เรียนให้ครูบาสร้อยเสกซ้ำอีกที ครูบาสร้อยได้ปฏิเสธและให้เหตุผลว่า
    “ เต็มแล้วเสก ไม่ได้แล้ว “
    แม้แต่ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ยังปฏิเสธไม่เสกให้
    " dhKNKP-bSR5ApWxUiwgSct_a77SWu_ZWq&_nc_ohc=l1OZE2L-6W4AX8kv_L2&_nc_zt=23&_nc_ht=scontent.fbkk29-1.jpg

    ศักดิ์สิทธิ์
     
  6. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,985
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,151
    ค่าพลัง:
    +70,550
    ประมาณปี 2534
    สายๆวันหนึ่ง เงียบมาก ไม่มีคนมาวัดเลย หลวงพ่อคูณตะโกนเรียกผม(เดี่ยว)ให้ลงมาจากชั้นบนกุฏิ พอมาถึงท่านจับมือผมจูงเดินลงกุฏิ บอก
    "กูจะพาไปกราบ "พระทองคำ""

    พอเดินลงบันไดกุฏิขั้นสุดท้าย รถคันหนึ่งเข้ามาจอดพอดี หลวงพ่อ(คูณ)เปิดประตูรถ แล้วกราบที่ตักภิกษุชราที่นั่งอยู่ในรถ หลวงปู่ที่อยู่ในรถท่านหัวเราะอารมณ์ดี ผมก็กราบท่านตามหลวงพ่อ
    หลวงปู่ท่านเทแป้งมาลูบหน้าผมแล้วหัวเราะ หยิบพระในย่ามกำหนึ่งส่งมาให้ผม
    หลวงพ่อคูณท่านเอามือมาขยี้หัวผมที่เต็มไปด้วยแป้ง ท่านบอกว่า "นี่แหละของดี ท่านให้"
    จากนั้นท่านก็ประคองหลวงปู่ขึ้นพักผ่อนบนกุฏิ ผมก็มองไปที่รถ ติดสติ๊กเกอร์ "หลวงปู่บุดดา ถาวโร" วัดกลางชูศรีเจริญสุข
    ตอนนั้นผมก็ไม่คิดอะไร
    หลายปีผ่านมา ผมมานึกย้อนไป
    เออ โทรศัพท์วัดก็ไม่ดัง แล้วหลวงพ่อ(คูณ)ท่านรู้ได้ยังไงว่าหลวงปู่(บุดดา)จะแวะมาหา
    ยืนยันครับ
    ผมกับหลวงพ่อไม่ได้รอ ก้าวสุดท้ายที่ลงบันไดหน้ากุฏิ หลวงปู่มาถึงพอดี
    Cr. เดี่ยว ทรงศักดิ์ สื่อวงศ์สุวรรณ

     

    ไฟล์ที่แนบมา:

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...