เรื่องเด่น เราทบทวนตัวเองอยู่หรือไม่ ?

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 23 พฤษภาคม 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,183
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,595
    ค่าพลัง:
    +26,442
    66C715F2-096A-47BB-B712-410F62C488C6.jpeg
    เราทบทวนตัวเองอยู่หรือไม่ ?

    ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมนั้น ยิ่งปฏิบัติไป กาย วาจา ใจของเราต้องดีขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่ปฏิบัติเท่าไร ก็ยังเหมือนเดิม จริตนิสัยของเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่เราสามารถพัฒนากาย วาจา ใจ ของเราให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้

    โดยเฉพาะในส่วนของการที่ต้องระมัดระวังเพื่อส่วนรวม เราอาจจะคิดว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เราตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติของเราไป คนอื่นจะเป็นอย่างไรก็ช่างหัวมัน เราจะคิดอย่างนั้นก็ได้ แต่ถ้าคิดแบบนั้นแสดงว่ากำลังใจของเรายังหยาบจนเกินไป ไม่รู้ว่าการปฏิบัติของเรานั้นเป็นทุกข์เป็นโทษให้กับคนอื่นเท่าไร

    การปฏิบัติธรรมที่ดีอย่างแท้จริงนั้น ต้องระมัดระวังไม่ให้กาย วาจา ใจ ของเราเป็นทุกข์เป็นโทษกับคนอื่น เรียกว่าจะคิดอะไรก็ต้องคิดด้วยความเมตตา จะพูดอะไรก็ต้องพูดด้วยความเมตตา จะทำอะไรก็ต้องทำด้วยความเมตตา โดยเฉพาะถ้าผู้อื่นยังปฏิบัติไม่ถึงระดับที่เราทำได้ เขาย่อมมีกาย มีวาจา มีใจ ที่บกพร่องเป็นปกติ ถ้าสามารถชี้แนะได้ให้ช่วยชี้แนะเขาด้วย ถ้าสามารถชักนำเขามาในทางที่ดีได้ ก็ให้ช่วยชักนำด้วย อย่างน้อยก็เป็นการอนุเคราะห์ ต่อเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ของเรา ทำให้ระยะทางในการเวียนว่ายตายเกิดของเขาสั้นลง ขณะเดียวกัน..ตัวเราก็ได้อานิสงส์เวยยาวัจมัย คือการขวนขวายเพื่อบุญเพื่อกุศลของคนอื่นเขา

    ดังนั้น.. #ถ้าทุกท่านที่ปฏิบัติอยู่ #คิดทบทวนด้วยความระมัดระวังโดยไม่เข้าข้างตัวเอง #เราจะเห็นว่า.. #เรายังมีข้อบกพร่องอยู่มาก และสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ถ้าเราไม่แก้ไข วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่าผ่านไป กาย วาจา ใจ ของเรายังไม่มีความก้าวหน้า ก็แปลว่าการปฏิบัติของเราก็หาความก้าวหน้าไม่ได้ไปด้วย

    ในการที่เราจะพิจารณาเพื่อแก้ไขการประพฤติปฏิบัติของเรา ต้องเป็นการพิจารณาแบบไม่เข้าข้างตัวเอง ใช้หลักการพิจารณาของบรรพชิต (นักบวช) ๑๐ ประการก็ได้ ที่ท่านพิจารณาว่า กาย วาจา ใจ ที่ดีกว่านี้ยังมีอยู่ เราต้องทำกาย วาจา ใจ เหล่านั้นให้ได้... ตัวเราเองติเตียนตัวเราเองโดยศีลได้หรือไม่ ?... ผู้รู้พิจารณาแล้วติเตียนตัวเราเองโดยศีลได้หรือไม่ ?...ฯลฯ เป็นต้น

    โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระรัตนตรัย ถ้ากำลังใจของเรายังหยาบอยู่ การประพฤติปฏิบัติที่หยาบ อาจจะล่วงละเมิดในพระรัตนตรัย เป็นการปรามาสในพระรัตนตรัยด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ โดยตัวเราเองก็ไม่รู้สึกว่าเป็นการปรามาสพระรัตนตรัย ในเมื่อเป็นดังนั้น โอกาสที่จะเป็นพระอริยเจ้าก็ไม่มีเลย เมื่อยังไม่เคารพในคุณพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง ยังมีการล่วงเกินด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจอยู่เป็นปกติ ย่อมขาดคุณสมบัติที่จะเป็นพระโสดาบันไปโดยปริยาย เท่ากับปิดประตู ตัดโอกาสเข้าถึงมรรคผลของตนไปอย่างน่าเสียดาย

    ดังนั้น..ในการปฏิบัติทุกครั้ง ให้เราทบทวนตนเองอยู่เสมอว่า เราทำอะไร ? เพื่ออะไร ? ตอนนี้ทำไปถึงไหน ? ยังเหลืออีกมากน้อยเท่าไร ? เรายังมุ่งตรงต่อเป้าหมายหรือไม่ ? เป็นต้น

    ถ้าท่านทั้งหลายปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีการสำรวมกาย วาจา ใจเป็นปกติแล้ว เราก็มาดูในเรื่องของลมหายใจเข้าออกพร้อมกับคำภาวนาของเรา เพราะถ้าลมหายใจเข้าออกทรงตัว ก็แปลว่าสมาธิของเราตั้งมั่น ความแหลมคมของสติสัมปชัญญะจะมีขึ้น สามารถรู้เท่าทันกิเลสต่าง ๆ ที่จะมาชักจูงเราไปสู่ฝ่ายต่ำ เมื่อเป็นดังนั้น..เราก็จะสามารถระมัดระวัง ป้องกันกาย วาจา ใจของเรา ไม่ให้ไหลลงสู่ที่ต่ำได้

    เมื่อดูลมหายใจ ดูคำภาวนาจนอารมณ์ใจทรงตัวตั้งมั่นแล้ว ท้ายสุดก็อย่าลืมพิจารณาให้เห็นว่า สภาพร่างกายของเรานี้มีความไม่เที่ยงเป็นปกติ มีความทุกข์เป็นปกติ ไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายเป็นตัวตนเราเขาได้

    ร่างกายนี้สักแต่ว่าประกอบขึ้นมาจากธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ให้เราอาศัยอยู่ชั่วคราว ถึงเวลาก็เสื่อมสลายตายพังไป ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ก็มีแต่ความทุกข์ ขึ้นชื่อว่าการเกิดมามีความทุกข์เช่นนี้เราไม่ต้องการอีก การเป็นเทวดาเป็นพรหม พ้นทุกข์ได้ชั่วคราว เราก็ไม่ปรารถนา ให้ตั้งใจไว้ว่า "ถ้าเราตายเมื่อไรขอไปพระนิพพานแห่งเดียวเท่านั้น"

    แล้วเอาจิตจับแน่วนิ่งอยู่กับพระนิพพาน ถ้ายังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ เราก็ดูลมหายใจเข้าออกของเราไป ถ้ายังมีคำภาวนาอยู่ ก็กำหนดคำภาวนาของเราไป ถ้าไม่มีลมหายใจเข้าออก ไม่มีคำภาวนา ก็กำหนดการรู้อยู่ตรงนั้น อย่าดิ้นรนให้พ้นจากสภาพเช่นนั้น และอย่าอยากให้เป็นสภาพเช่นนั้น สมาธิจะได้ทรงตัวเข้าสู่ระดับที่สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป ลำดับต่อไปให้ทุกท่านภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

    ———————————————————-
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    ที่มา www.watthakhanun.com
    ———————————————————-
    #ชุมชนคุณธรรมฯวัดพุทธบริษัท
    #ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร
    #แบ่งปันธรรมะ
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...