เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 7 พฤษภาคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,823
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,569
    ค่าพลัง:
    +26,411
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,823
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,569
    ค่าพลัง:
    +26,411
    วันนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ กระผม/อาตมภาพเดินทางไปถึงวัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) ตั้งแต่ ๖ โมงเช้า เพื่อเข้าร่วมลงอุโบสถทบทวนพระปาฏิโมกข์ เนื่องในวันพระแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ ซึ่งถ้าหากว่าเป็นวันพรุ่งนี้ก็จะเข้าสู่เดือน ๖ แล้ว

    ความจริงแล้วการลงอุโบสถทบทวนพระปาฏิโมกข์นั้น ถ้าเป็นตามพระธรรมวินัยแล้ว ท่านให้ลงในช่วงบ่าย เนื่องเพราะในพระวินัยระบุว่าเมื่อตะวันบ่ายคล้อยไปแล้ว ก็แปลว่าตั้งแต่หลังเที่ยงเป็นต้นไป แต่ว่าหลายแห่งก็ลงอุโบสถในเวลาค่ำกันไปเลย เพราะว่าต้องรอให้แน่ใจว่าไม่มีพระอาคันตุกะในบริเวณใกล้เคียง มาลงอุโบสถทบทวนพระปาฏิโมกข์ด้วยกัน

    เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า
    ในอดีตพระภิกษุนั้นมีความเคร่งครัดในพระวินัยมาก และการลงอุโบสถทบทวนพระปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือน เป็นเรื่องที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติเอาไว้ ถ้าละเมิดก็แปลว่าศีลขาด..!

    บางรูปบางท่านอาศัยอยู่ในป่า หรือว่าในสถานที่ทุรกันดาร กว่าจะเดินทางออกมาถึงวัดที่มีอุโบสถ แล้วมีพระวินัยธรผู้ทรงพระปาฏิโมกข์ บางทีก็เป็นเวลาเย็นย่ำ หรือว่าค่ำลงไปแล้ว เป็นต้น จึงทำให้วัดนั้น ๆ ตัดสินใจลงอุโบสถทบทวนพระปาฏิโมกข์กันในช่วงค่ำไปเลยทีเดียว ส่วนทางวัดท่าขนุนนั้น เราลงอุโบสถกันเวลา ๑๓.๓๐ น. ก็คือบ่ายโมงครึ่ง แปลว่าต้องการให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

    ส่วนการลงอุโบสถนั้นระยะหลังนี้ วัดวาอารามเจริญกันมาก ส่วนใหญ่ก็มีอุโบสถกันเกือบทุกแห่ง แม้แต่สำนักสงฆ์ หรือที่พักสงฆ์บางแห่ง ก็สร้างอุโบสถเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่รอเวลาในการยกขึ้นเป็นสำนักสงฆ์ หรือว่าเป็นวัดเท่านั้น
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,823
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,569
    ค่าพลัง:
    +26,411
    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ในปัจจุบันนี้จึงไม่จำเป็นที่จะต้องรอพระภิกษุจากวัดอื่นมาลงอุโบสถทบทวนพระปาฏิโมกข์ร่วมกัน ยกเว้นว่าวัดที่ท่านมีผู้มาเข้าร่วมฟังพระปาฏิโมกข์ด้วยกันเป็นประจำอยู่แล้ว ท่านก็จะรู้ว่ามีใครบ้าง และรอจนกระทั่งมากันครบ หรือถ้าหากว่าติดภารกิจประการใดก็ตาม ก็จะใช้วิธี "มอบฉันทะ" ให้บุคคลอื่นที่ลงพระปาฏิโมกข์นั้น ถ้ามีการตัดสินสิ่งหนึ่งประการใดที่เป็นไปโดยพระธรรมวินัยแล้ว ก็ให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก เป็นต้น

    อย่างเช่นกระผม/อาตมภาพ ก็จะ "มอบฉันทะ" ให้กับพระภิกษุวัดท่าขนุนลงอุโบสถทบทวนพระปาฏิโมกข์แทน ถ้ามี "อธิกรณ์" ใด ๆ เกิดขึ้น เสียงส่วนมากพิจารณาไปในแนวทางใด กระผม/อาตมภาพก็เห็นตามเสียงส่วนมากนั้น ๆ เป็นต้น

    แต่ทางวัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) นั้น ตั้งแต่พระเดชพระคุณพระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าคณะภาค ๑๔ ท่านขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ก็เลื่อนการลงอุโบสถทบทวนพระปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือน มาเป็นช่วงเช้ามืด เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ท่านเองต้องการที่จะลงทบทวนพระปาฏิโมกข์ตามพระธรรมวินัยด้วย

    แต่ขณะเดียวกัน เมื่อเป็นพระราชาคณะ เป็นเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) ซึ่งโด่งดังมาก มีแต่ผู้พึ่งพาอาศัย คนโน้นก็นิมนต์ คนนี้ก็นิมนต์ ก็ต้องออกกิจนิมนต์กันชนิด เช้า สาย บ่าย เที่ยง เย็น กันไปเลย จึงทำให้ถ้าไม่ลงอุโบสถเสียตั้งแต่เช้ามืด ก็อาจจะไม่ได้ทบทวนพระปาฏิโมกข์ของเดือนนั้น ๆ ไป ท่านจึงตัดสินใจแจ้งให้คณะสงฆ์ทราบว่า จะลงอุโบสถกันทุก ๖ โมงเช้า ของวันพระใหญ่นั้น ๆ

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น กระผม/อาตมภาพที่ตั้งใจว่าจะมาร่วมงานอบรมเจ้าอาวาสใหม่ ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ รุ่นที่ ๓/๒๕๖๗ ให้ได้ทุกวัน จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบเดินทางมาให้ทัน ๖ โมงเช้า เพื่อลงอุโบสถทบทวนพระปาฏิโมกข์ร่วมกัน ขนาดนั้นเมื่อไปถึง ปรากฏว่าพระวินัยธรผู้ทรงพระปาฏิโมกข์ได้ตั้งนะโมฯ พอดี กระผม/อาตมภาพจึงก้าวเข้าอุโบสถไปกราบพระ และตั้งใจร่วมทบทวนพระปาฏิโมกข์ด้วย

    หลายท่านอาจจะคิดว่า ถ้าหากว่าเขาเริ่มกันแล้ว เราไม่สามารถที่จะเข้าไปได้ ความจริงแล้วถ้าบุคคลผู้มาใหม่ มีจำนวนน้อยกว่าพระภิกษุที่ลงอุโบสถทบทวนพระปาฏิโมกข์อยู่ สามารถที่จะเข้าร่วมไปได้เลย แต่ถ้าหากว่าผู้ที่มาใหม่นั้นมีจำนวนมากกว่า การลงอุโบสถทบทวนพระปาฏิโมกข์ครั้งนั้นก็ต้องหยุดลงกลางคัน เมื่อพระท่านเข้ามาครบแล้วค่อยเริ่มต้นกันใหม่

    ดังนั้น..การแสดงพระปาฏิโมกข์ในครั้งนี้ จึงสามารถที่จะว่าต่อเนื่องไปได้ โดยเฉพาะยังไม่ทันที่จะเริ่ม "นิทานุทเทส" ก็คือบทเริ่มต้นเกริ่นนำเลย
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,823
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,569
    ค่าพลัง:
    +26,411
    เมื่อทบทวนพระปาฏิโมกข์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็กระผม/อาตมภาพออกมาร่วมฟังโอวาทของพระเดชพระคุณพระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. เจ้าคณะภาค ๑๔ หรือว่าหลวงพ่อเจ้าคุณแย้ม เสร็จเรียบร้อยแล้วถึงได้ฉันเช้าร่วมกับบรรดาผู้เข้ารับการอบรมเจ้าอาวาสใหม่ รุ่นที่ ๓/๒๕๖๗ แล้วร่วมกิจกรรมกันต่อไป

    ในเรื่องของพระวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น บางอย่างเราก็ต้องชัดเจน เพื่อที่จะต้องช่วยกันรักษาเอาไว้ เพราะว่า
    พระวินัยนั้นเปรียบเหมือนรากแก้วของพระพุทธศาสนา กระผม/อาตมภาพไปเจอพระภิกษุทางด้านประเทศพม่า ที่บางอย่างท่านไม่มีความเคร่งครัด อย่างเช่นว่าเดินจับมือถือแขนกับผู้หญิงก็ดี เดินโอบไหล่ไปอยู่ภายใต้ร่มคันเดียวกันก็ดี และเป็นสิ่งที่ชาวบ้านญาติโยมไม่ตำหนิติเตียนเสียด้วย..!

    เมื่อกระผม/อาตมภาพสอบถาม พระท่านอธิบายว่า เขายึดพระธรรมเป็นหลัก เนื่องเพราะว่าพระธรรมเป็นแก่นของพระพุทธศาสนา ดังนั้น..ในเรื่องของพระวินัย จึงสามารถที่จะผ่อนปรนได้ กระผม/อาตมภาพได้ฟังคำอธิบายแล้ว ก็ได้แต่กลืนน้ำลาย คิดว่า ถ้าหากว่าต้นไม้คือพระพุทธศาสนาของเรามีแต่แก่น แต่หารากไม่ได้ แล้วต้นไม้ต้นนั้นจะยืนอยู่ได้อย่างไร ? แต่ก็ไม่ได้คัดค้านท่าน เพียงแต่ว่าไม่ได้ปฏิบัติตามไปด้วยเท่านั้น

    โดยเฉพาะในส่วนของการขึ้นรถเมล์ ขึ้นยานพาหนะต่าง ๆ นั้น กระผม/อาตมภาพโดนผู้หญิงพม่านั่งตักมาแล้ว..! เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าตอนนั้นกำลังจะเดินทางจากจังหวัดพะยาจี เพื่อที่จะไปยังเมืองไจ๊โท สักการะพระบรมธาตุอินทร์แขวน ไปยืนโบกรถสองแถวอยู่กับครูบาน้อย (อดีตพระนาวิน สจฺจญาโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองบัว จังหวัดจะอีน ประเทศพม่า)

    เมื่อเห็นรถสองแถวมา กระผม/อาตมภาพก็โบกเรียก ครูบาน้อยท้วงว่า "ด้านหน้าไม่ว่างนะครับอาจารย์" กระผม/อาตมภาพก็บอกว่า "เราไม่เอาความสบาย เอาความสะดวกดีกว่า มัวแต่รอคันต่อ ๆ ไป เมื่อไรจะไปถึงเมืองไจ๊โทเสียที เรายังต้องเดินขึ้นยอดเขาอีก จะค่ำมืดดึกดื่นเสียก่อน" ครูบาน้อยก็ไม่ได้พูดอะไรอีก
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,823
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,569
    ค่าพลัง:
    +26,411
    แต่เมื่อขึ้นไปบนรถแล้ว มีที่ให้นั่ง กระผม/อาตมภาพก็นั่งลง ครั้นถึงเวลาคนขึ้นมาจนเต็มทางด้านท้ายแล้ว ครั้นจอดป้ายต่อไป มีญาติโยมที่เป็นผู้หญิงเดินขึ้นมา มองซ้ายมองขวาแล้ว เห็นพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งของญาติโยมอย่างแน่นอนแล้ว ก็หย่อนก้นลงนั่งบนตักของกระผม/อาตมภาพเลย ทำเอากระผม/อาตมภาพแทบจะสะดุ้งหัวชนหลังคา แต่ว่าจะขยับหนีก็ไม่ได้ เนื่องเพราะว่าแม่เจ้าประคุณมองตาเขียวปั๊ด ประมาณว่าอาศัยแค่นี้ไม่ได้หรืออย่างไร ต้องทำท่าขยับตัวเสียขนาดนั้นด้วย ?!!

    กระผม/อาตมภาพถึงได้เข้าใจว่า ทำไมพระภิกษุสามเณรของประเทศพม่า จึงนิยมนั่งบนหลังคารถโดยสารกันเต็มไปหมด ? โดยที่กระผม/อาตมภาพก็เห็นว่าข้างล่างยังมีที่ว่างอยู่ ทำไมท่านทั้งหลายจึงหาความสำรวมไม่ได้เลย ขึ้นไปนั่งอยู่บนหลังคา เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้เข้า หลังจากนั้นกระผม/อาตมภาพก็ขึ้นไปนั่งบนหลังคากับเขาเหมือนกัน..!

    ดังนั้น..ในเรื่องของพระวินัยนั้น บางอย่างเราปรับได้ แต่ว่าถ้าไปปรับจนกระทั่งหมดสภาพของความเป็นพระธรรมวินัย ก็เป็นอันว่าพระพุทธศาสนาของเราต้องเสื่อมทรามลงเป็นแน่แท้..!

    ในเมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้ ก็นึกได้ว่าในบรรดาเจ้าอาวาสใหม่นั้น มีคำถามว่า "พระภิกษุขับรถยนต์ผิดพระธรรมวินัยหรือไม่ ?" กระผม/อาตมภาพอยากจะเรียนกับท่านทั้งหลายว่า ถ้าอ่านพระวินัยปิฎกไม่ละเอียด แม้กระทั่งการนั่งรถยนต์ ก็ยังผิดพระวินัยเลย..!

    ท่านทั้งหลายที่ได้ฟังตรงนี้อาจจะทำตาโต แต่ความจริงแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงห้ามเอาไว้ว่า ไม่ให้พระภิกษุไปด้วยยาน ก็คือพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นยานที่เป็นเกวียน ใช้แรงสัตว์ลากก็ดี ยานที่เป็นคานหาม เป็นวอสีวิกากาญจน์ที่ใช้คนหามก็ตาม นอกจากประการที่หนึ่ง เจ็บไข้ได้ป่วย เราจะเห็นว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงมีข้อที่อนุโลมให้ยกเว้นได้

    เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่ายวดยานคานหาม หรือว่าเกวียนนั้น ต้องใช้แรงคนแรงสัตว์ ถ้าหากว่าพระของเราซึ่งเป็นผู้ละกิเลสแล้ว ไปทำในลักษณะโดยสารแบบเต็มภาคภูมิ ก็จะกลายเป็นที่ตำหนิของนักบวชศาสนาอื่น หรือว่าศาสนิกของศาสนาอื่น ๆ ได้ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงเมตตา อนุญาตให้สามารถที่จะโดยสารยานเหล่านั้นได้ ถ้าหากว่าเจ็บไข้ได้ป่วย
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,823
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,569
    ค่าพลัง:
    +26,411
    กระผม/อาตมภาพเห็นว่าในสมัยนี้บางท่านก็ไปอยู่ในสถานที่ลึกมาก และหาคนมาขับรถให้ยาก ถ้ามีเรื่องฉุกเฉินขึ้นมา อย่างเช่นว่าภายในวัดมีพระภิกษุสามเณรเจ็บไข้ได้ป่วยหนัก ๆ ต้องถึงมือหมอในระยะเวลาอันรวดเร็ว ก็สามารถที่จะอนุโลมให้ขับรถ เพื่อที่นำมาส่งยังโรงพยาบาลได้ แต่ตรงนี้ก็ต้องมาพิสูจน์ทราบกันว่า ที่ท่านขับรถนั้น ท่านขับเพราะสาเหตุอะไร ? แล้วการที่จะมาลงโทษ ก็คงจะมีในลักษณะตักเตือนบ้าง ตำหนิโทษบ้าง ภาคทัณฑ์บ้าง ซึ่งหนักเบากันไปตามสถานการณ์ แต่ว่าไม่มีการลงโทษอื่น ๆ ที่หนักกว่านี้

    หากแต่ว่าข้อนี้นั้นจัดเป็นโลกวัชชะ ก็คือโลกติเตียน ผิดทางโลกด้วย ผิดทางธรรมด้วย ถ้าอย่างนั้นเกิดด่านตรวจมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ แล้วเรียกตรวจใบขับขี่ ถ้าท่านไม่มีใบอนุญาตให้ขับขี่ยานพาหนะ ท่านจะมีความผิดทางโลก..!

    แล้วถ้าอยู่ในสถานที่ใดหรือว่าเขตปกครองใด ที่คณะสงฆ์ของที่นั้น ๆ ได้ประกาศเป็น "ขัอสัญญัติ" คือข้อตกลงในหมู่นั้น ๆ ว่าพระภิกษุสามเณรห้ามขับรถ ถ้าอย่างนั้นท่านก็จะผิดในทางธรรมด้วย ก็คือ ละเมิดในระเบียบที่คณะสงฆ์ได้กำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมา

    ดังนั้น..ในส่วนนี้กระผม/อาตมภาพได้ตักเตือนพระภิกษุสามเณรภายในวัดท่าขนุนไว้บ่อย ๆ ว่า
    จะขับรถขนข้าวขนของเพื่อจัดสถานที่ต่าง ๆ ก็เอาแค่จำเป็นเท่านั้น ถ้าหากว่ามีญาติโยมอยู่ ก็รบกวนญาติโยมให้ขับแทน ถ้าไม่มีญาติโยมอยู่ เราขับเอง ก็อย่าคึกคะนองด้วยการถ่ายรูป หรือว่าถ่ายคลิป เพราะว่าถ้าเผลอให้รูปหรือคลิปนั้น ๆ ออกสู่โซเชียลเมื่อไร ท่านก็จะเดือดร้อนเอง..!

    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระมัดระวัง เนื่องเพราะว่าพระภิกษุของเรานั้นอยู่ในสถานะต่ำสุด ก็คือเป็นผู้ขอ ถ้าหากว่าไปขับรถ ทำตัวร่ำรวย ก็คงไม่มีใครอยากจะสงเคราะห์ เราก็จะกลายเป็นบุคคลที่ทำให้ศาสนานี้เสื่อมทรามลงไป กลายเป็นโทษหนักโดยใช่เหตุ..!

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันอังคารที่ ๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...